การบำรุงรักษาถังและใบกวน

       การบำรุงรักษา (maintenance) เป็นการทำงานที่ทำให้เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ มีสภาพที่สามารถใช้งานได้ตามความประสงค์ของเจ้าของหรือผู้ใช้ 

 

  ประเภทของการบำรุงรักษา 

 

1.Breakdown Maintenance (การบำรุงรักษาโดยการซ่อมแซมส่วนที่เสีย)

  การบำรุงรักษาวิธีนี้เป็นแนวคิดในการบำรุงรักษาที่เก่าแก่ที่สุด คือจะทำการซ่อมแซมเมื่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เสีย โดยไม่ได้มีการวางแผนใดๆ ให้สอดคล้องกับการผลิต 

ข้อเสียของการบำรุงรักษาประเภทนี้ได้แก่ 

  • ไม่มีสัญญาณใด ๆ บอกเป็นการเตือนล่วงหน้าเมื่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มชำรุด
  • กระทบกับการผลิตเนื่องจากอะไหล่บางชิ้นต้องใช้ระยะเวลานานในการสั่งซื้อ
  • ไม่สามารถวางแผนงานในการผลิตได้ ทำให้กระบวนการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ

 

2.Preventive maintenance (การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน) 

  การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน หรือ Preventive Maintenance คือ การบำรุงรักษาตามแผน ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการดูแลสภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยลักษณะงานของ Preventive Maintenance ก็คือ การวางแผนในการตรวจสอบ ทำความสะอาด ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ต่างๆ ตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกโรงงาน เพราะนอกจากจะช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรให้นานมากยิ่งขึ้น และลดปัญหาความขัดข้องระหว่างกระบวนการผลิตได้อย่างแม่นยำแล้ว ยังทำให้คุณสามารถคงรักษาคุณภาพกระบวนการผลิตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดได้อีกด้วย

 

ที่มา: https://www.thaiparker.co.th/th/articles/processing-service/What-is-Preventing-Maintenance


 

การบำรุงรักษาถังและใบกวน

 

  จุดมุ่งหมายของการบำรุงรักษาถังและใบกวน

1. เพื่อให้ใบกวนสามารถใช้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล  (Effectiveness)  คือ สามารถใช้ถังและใบกวนได้เต็มความสามารถ

2. เพื่อให้ถังและใบกวนมีสมรรถนะการทำงานสูง  (Performance) และช่วยให้มีอายุการใช้งานยาวนาน  เพราะเมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่งจะเกิดการสึกหรอ หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น หากไม่มีการซ่อมแซม ถังอาจเกิดการรั่วไหล และใบกวนอาจเกิดการขัดข้องชำรุดเสียหาย

3. เพื่อความปลอดภัย (Safety) ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญ  เครื่องมือเครื่องใช้จะต้องมีความปลอดภัยเพียงพอต่อผู้ใช้งาน  ถ้าอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย  ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ  และการบาดเจ็บต่อผู้ใช้งานได้  การบำรุงรักษาที่ดีจะช่วยควบคุมการผิดพลาด

4. เพื่อลดมลภาวะของสิ่งแวดล้อม เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ที่ชำรุดเสียหาย  เก่าแก่  ขาดการบำรุงรักษา  จะทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  เช่น  มีฝุ่นละอองหรือไอของสารเคมีออกมา  มีเสียงดัง  เป็นต้น  ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง

5. เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้าและสารหล่อลื่น ถ้าหากถังและใบกวนได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพดี  เดินราบเรียบไม่มีการรั่วไหลของน้ำมัน ก็จะสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

 

  การบำรุงรักษาถัง

    แม้ว่าถังจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องคอยดูแลหรือตรวจสอบการทำงานบ่อยเท่ากับระบบอื่นๆ แต่ทุกสิ่งย่อมมีความเสื่อมตามสภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับถังผสมที่มีการใช้งานเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการตรวจสอบสภาพ เพื่อให้ระบบทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

  - ตรวจสอบสภาพโดยรวมของตัวถังว่ายังมีรูปทรงแบบเดิมเหมือนกับวันแรกที่ซื้อมาหรือไม่ ต้องไม่มีการยุบหรือบวมของตัวถัง

  - ส่วนของขาหรือตัวถังทั้งหมดต้องตั้งตรงขนานกับพื้น ไม่เอียงไปจากเดิม

  - ตรวจสอบพื้นผิวของถัง ผิวถังควรเรียบ ไม่มีรอยแตกร้าวหรือมีร่องรอยการกัดกร่อน

  - ตรวจสอบสีของถังมีการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน ซีดลง หรือมีจุดที่สีด่างไปจากเดิมไหม หากมีการเปลี่ยนมากเกินไป แปลว่า ถังใกล้เสื่อมสภาพการใช้งานแล้ว

  - ตรวจสอบร่องรอยคราบต่างๆ รอบตัวถัง ดูว่าถังสแตนเลสเกิดคราบสนิมที่นำไปสู่สาเหตุของรูรั่วต่าง ๆหรือไม่

  - วางแผนการตรวจสอบเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญประจำปี เพื่อป้องกันการเสียหายหนัก เช่น การตรวจสอบแนวเชื่อมถังโดยการทำ penetrant test, การตรวจเช็คความหนาถัง เป็นต้น

 

 

  การตรวจสอบความสมบูรณ์ของแนวเชื่อมถังสแตนเลสโดยการทำ PT test

    การตรวจสอบแบบไม่ทำลาย โดยการทำ PT  Test หรือ Liquid Penetrate Inspection จะเป็นการใช้สารแทรกซึมฉีดพ่นลงบนแนวเชื่อม โดยสารแทรกซึมนี้จะมีความสามารถในการซึมเข้ารูหรือที่แคบๆ เช่นจุดที่เป็น pitting หรือรอยร้าวต่างๆได้ โดยอาศัยหลักการ “Capillary action” หรือความสามารถในการแทรกซึม คุณสมบัติการแทรกซึมจะมากหรือจะน้อยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 อย่างหลักๆ คือ

  1. ขนาดของรอยความไม่ต่อเนื่อง (Size of Discontinuity)
  2. ความตึงผิวของของเหลว (Liquid Surface tension)
  3. ความสามารถในการเปียก (Wet Ability)

 

การตรวจสอบความสมบูรณ์ของแนวเชื่อมถังสแตนเลสโดยการทำ PT test.jpeg

ที่มา: https://naichangmashare.com/2020/02/15/penetrant-testing-basic/ 

 

 

  การดูแลถังสแตนเลส

  1. ควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน

  2. หากใช้กรดทำความสะอาดสแตนเลส ต้องล้างด้วยน้ำและตรวจเช็คให้มั่นใจว่าไม่มีกรดเหลือตกค้างในถัง 

  3. หากมีการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดควรเริ่มจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนสุดก่อนเสมอและทดลองทำความสะอาดเป็นบริเวณเล็กๆ ก่อนเพื่อให้มั่นใจสารนั้นไม่ทำลายผิว

  4. หลีกเลี่ยงรอยเปื้อนที่เกิดจากเหล็กโดยไม่ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดที่ทำจากเหล็กเพื่อป้องกันการเกิดสนิม

 

  สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงกับถังสแตนเลส

  1. อย่าเคลือบสแตนเลสด้วยขี้ผึ้ง หรือสารที่มีความมัน เพราะจะทำให้ฝุ่นหรือรอยเปื้อนติดบนพื้นผิวได้ง่ายขึ้นและทำความสะอาดยาก

  2. อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอไรด์และเฮไลด์ เช่น โบรไมน์ ไอโอดีนและฟลูออรีน

  3. อย่าใช้กรดไฮโดรคลอริค ในการทำความสะอาด เพราะจะเกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็มและแบบเป็นรอยร้าวได้ (Pitting and Stress Corrosion Cracking)

 

ที่มา: bestkitchen9.com/th/articles/172896-การดูแลรักษา%20และทำความสะอาดอุปกรณ์สแตนเลส;January 6, 2024

 

  การบำรุงรักษาใบกวน

            ด้านความปลอดภัย

            1. ฝาครอบใบกวนควรอยู่ในสภาพดีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนสัมผัสกับจุดหมุนจากการทำงาน และก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

            2. ควรตรวจสอบสลักเกลียวยึดของมอเตอร์ต้องมั่นคงแข็งแรง

            3. การซ่อมแซมบำรุงรักษาต้องทำการตัดไฟ

            4. สายไฟ ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์

           

  ขั้นตอนการบำรุงรักษา

            1. ชิ้นส่วนหล่อลื่นควรเต็มไปด้วยน้ำมันหล่อลื่นที่ความหนืดที่เหมาะสมกับชุดมอเตอร์เกียร์ของชุด ใบกวนและถูกเปลี่ยนถ่ายทุก ๆ 6 เดือน

            2. ซีลใบกวนควรเปลี่ยนตามสภาพการสึกหรอที่เหมาะสม ตามรอบระยะเวลาการใช้งาน

            3. ตรวจสอบท่อระบบหล่อเย็นของ Mechanical Seal ต้องสมบูรณ์ไม่แตกหรือมีการรั่วไหลของของเหลว

            4. ในระหว่างทำงานของชุดใบกวนเป็นเวลา 6 เดือนควรทำการบำรุงรักษา ชิ้นส่วนที่เปราะบางและทำการซ่อมแซม ตรวจเช็ค Alinement ให้อยู่ในค่าที่เหมาะสมของใบกวนนั้นๆ

            5. ตรวจเช็คการหล่อลื่นจาระบีของชุดใบกวน เป็นประจำทุกเดือน

            6. ตรวจเช็คการตึงของสายพานต้องอยู่ตามค่ามาตรฐานที่กำหนด

            7. วางแผนการตรวจสอบเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญประจำปี เพื่อป้องกันการเสียหายหนัก

 

  ข้อดีของการบำรุงรักษา

  • ลดค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษา
  • ลดสถิติการชำรุดของเครื่องจักรและอุปกรณ์
  • ลดเวลาการชำรุดของเครื่องจักรและอุปกรณ์
  • ลดปริมาณอะไหล่คงคลังในการบำรุงรักษา
  • เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 
  • วางแผนการบำรุงรักษาได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 
  • ทำให้การหยุดชะงักในการผลิตน้อยลง