
การล้างถังที่ดี มีผลช่วยยืดอายุการใช้งาน
การล้างทำความสะอาดถังที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ มีความสำคัญต่อภาพรวมของการผลิต โดยถังแต่ละใบนั้นควรถูกวางแผนในการล้างทำความสะอาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ โดยมีข้อควรรู้ดังต่อไปนี้
รู้หรือไม่..หากล้างถังไม่ดีจะเกิดอะไรขึ้น?
การล้างถังนั้น ก็เหมือนกับการที่เราทำความสะอาดภาชนะหลังการใช้งาน เช่น การล้างจานชามหลังทานข้าวเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมและเน่าเสีย หากเราทิ้งไว้ไม่ล้างก็อาจจะเกิดผลเสียต่างๆ ตามมาดังนี้
- มี Product เกาะที่ผิว บางชนิดเกิดเป็นคราบแข็ง ทำให้เกิดคราบสกปรก เกิดการสะสมของเชื้อ และคราบแข็งนั้นจะล้างออกได้ยาก
- มี Product ค้างที่ผิวถัง หากเป็น product ที่มีสารที่ทำให้กัดกร่อนเช่น Chloride ในเกลือ เมื่อน้ำระเหยไปความเข้มข้นของ Chloride จะสูงขึ้น ทำให้เกิดการกัดกร่อนที่ผิวถัง เกิดเป็น pitting ได้
- Product บางชนิดสามารถเกิดการตกผลึกได้ เช่น เกลือหรือน้ำตาล หากมีใบพัดกวนที่ข้างถังหรือก้นถัง ผลึกนี้อาจจะไปเกาะที่ Mechanical seal ทำให้ Mechanical seal ของใบกวนแตก บิ่น หรือเสียหายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการรั่วของ product ตามมา
การออกแบบถังที่ดีควรทำอย่างไร
การที่เราจะทำความสะอาดถังได้ดีไม่ใช่เพียงแค่วางแผนการล้างเท่านั้น แต่ต้องเตรียมการตั้งแต่การออกแบบและการผลิตถัง เพราะหากถังไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสม หรือผลิตไม่ได้คุณภาพตามที่ออกแบบไว้ เมื่อนำถังมาใช้งานก็อาจจะพบปัญหาได้ จุดที่เราต้องให้ความสนใจก็คือ
- ถังด้านในที่สัมผัสกับ product จะต้องมีความเรียบทั้งที่ผิวและแนวเชื่อม และต้องออกแบบให้ไม่มีซอกหรือมุมอับต่างๆ ที่ Spray ball ฉีดล้างไม่ถึง
- ก้นถังต้องออกแบบให้มี slope เพียงพอ ให้สามารถ Drain product ได้หมด ไม่มีซอกหรือแอ่งที่ product ตกค้างในถัง
- เลือกใช้ชนิดและจำนวนของ spray ball ให้เหมาะสมกับ product และขนาดของถัง เพื่อให้มีระยะการฉีดล้างที่ทั่วถึง
- ต้องคำนวณตำแหน่งการติดตั้ง Spray ball ให้เหมาะสม โดยเช็คระยะการฉีดล้างของ spray ball ให้สามารถฉีดล้างได้ทั่วทั้งถัง โดยไม่มีมุมอับ
- ควรมีการวัดค่าความหยาบผิวของถังหลังผลิตเสร็จ โดยในงานอาหารและเครื่องดื่มทั่วไป ส่วนที่สัมผัสกับ Product ควรมีค่า Roughness ไม่เกิน 0.8 micron
การล้างถังที่ดีควรทำอย่างไร
การล้างทำความสะอาดถังที่ดีนั้นควรพิจารณาองค์ประกอบต่างๆให้ครบถ้วน ดังนี้
- ควรวางแผนความถี่ในการล้างถังให้เหมาะกับแผนการผลิตและคุณลักษณะของ Product โดยเมื่อใช้ถังเสร็จแล้ว ควรทำการล้างถังทันที ไม่ทิ้งไว้นาน เพื่อลดการเกิดเชื้อ รวมถึงการเกิดคราบแข็ง ที่จะทำให้การล้างทำความสะอาดนั้นทำได้ยากขึ้น
- กำหนดค่า Flow rate และ Pressure ในการทำ CIP ให้เหมาะสมกับชนิดของ spray ball ที่เลือกใช้ในแต่ละถังเพื่อให้ spray ball สามารถทำหน้าที่ฉีดล้างเพื่อทำความสะอาดได้ดีตามที่ออกแบบไว้
- เลือกใช้ชนิดและความเข้มข้นของสารเคมีในการล้างให้เหมาะกับ product รวมถึงการเลือกใช้อุณหภูมิและระยะเวลาในการล้างให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอน